ณัฐนินท์ ธรรมวิทย์เมธี สอนวิธีรู้จักการ “ ปล่อยวาง ”

ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็จงรู้จักการ “ ปล่อยวาง ”

        ณัฐนินท์ ธรรมวิทย์เมธี กล่าวว่า การปล่อยวาง ให้เป็น ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็จงรู้จักการ ปล่อยวาง ก้อนความเครียดก็เหมือนกล่องทิชชู ถ้ารักจะถือไว้ไม่วางก็ตามใจ แต่ก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะถือให้นานที่สุด และสร้างความเสียหายแก่ชีวิตน้อยที่สุด

เรามีวิธีถือหลายวิธี เช่น ถือสองมือ ก็ไม่เหลือมือไว้ทำอะไรอีกเลย จะทำอะไรก็คงต้องใช้ปากกับเท้าแทน ซึ่งมักจะทำได้ยากสร้างความลำบากลำบนแก่ชีวิตเสียเปล่า ๆ
ถ้าเช่นนั้นสู้วางลงสักมือ น่าจะดีกว่า เหลืออีกมือไว้ทำนั่น ทำนี่ มือข้างที่ถือก็ต้องแข็งแรง จะได้ไม่เสียสมดุล เราจะได้ใช้มืออีกข้างทำงาน และดำเนินชีวิตได้เต็มที่ แต่แน่นอนว่า วางลงทั้งสองมือดีที่สุด ไม่ต้องถือไว้ เพราะอาจเหนื่อยฟรี
ความเครียดหลายอย่างในชีวิตคนเรา มักเครียดฟรี คือ “คิดไปเอง”
พรุ่งนี้เช้าลองตื่นขึ้นมา แล้วคว้ากล่องทิชชูหัวเตียงมาถือไว้ จะใช้มือซ้าย หรือมือขวาก็ได้ตามสบาย แล้วตั้งปณิธานว่า จะถือไปทั้งวันจนกว่าอาทิตย์ตกดิน เลือกทำวันอาทิตย์ที่มั่นใจว่าอยู่บ้านทั้งวัน จะได้ไม่ต้องออกไปทำงาน หรือไปนอกบ้านให้ใครเขาว่าบ้า ตั้งใจมั่นว่าจะถือกล่องทิชชูไว้ทั้งวันโดยไม่ปล่อยวาง จากนั้นให้ไปห้องน้ำได้ แปรงฟัน ล้างหน้า ทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ เช็ดตัว แต่งตัว ด้วยมือเดียว เพราะอีกมือแบกก้อนความเครียดเอาไว้เสียแล้ว จะได้รู้ว่าชีวิตลำบากกว่าเดิมมาก อดทนทำไปจนถึงเวลาอาทิตย์ตกดิน จะได้ฝึกความอดทนไปในตัว
ลองออกนอกบ้านไปให้คนเห็นก็ได้ จะได้รู้ว่าเวลาเราเครียดออกนอกบ้านให้คนเห็นมันเสียฟอร์มขนาดไหน
ถึงว่าเครียดอย่างไร ก็ให้พยายามยิ้มออกนอกบ้าน ยกเว้นว่า ไม่ถือสาเรื่องเสียฟอร์มก็แล้วไป เมื่อถึงเวลาค่ำจึงวางลง จะได้รู้ว่า เหนื่อยฟรีเป็นอย่างไร
จะเห็นว่า หากเราไม่ถืออะไร ชีวิตง่ายกว่ากันมาก
อย่างไรก็ตาม การปล่อยวางไม่ใช่ของง่าย แต่ถ้าจะถือ จงถือให้ดี อย่าให้เสียสมดุล อย่าหกล้ม อดทนต่อน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้นทุกขณะ ต่อให้เป็นกล่องทิชชูที่เบาโหวง แต่ถ้าถือทั้งวัน ถึงตอนเย็นย่อมรู้สึกหนักกว่าตอนเช้าแน่ ๆ
การปล่อยวาง ควรทำเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว มิใช่เอะอะ อะไรก็ปล่อยวางลูกเดียว แบบนั้นเขาเรียกคนไม่รับผิดชอบ
ถ้ามั่นใจว่าทำดีที่สุดแล้ว ถือต่อไปเรามีแต่ต้องตายกับตายลูกเดียว ก็ต้องรู้จักตัดใจวาง
แต่การวางให้เหมาะสมคือ วางเฉพาะเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องไหนสำคัญก็ต้องสู้สุดฤทธิ์ ดังนั้นเราควรแยกแยะให้ออกว่า เรื่องไหนควรปล่อย และเรื่องไหนไม่ควรปล่อย



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ณัฐนินท์ ธรรมวิทย์เมธี กับบทความ คนฉลาด

โลกของเรา เรื่องเล่าจาก ณัฐนินท์ ธรรมวิทย์เมธี

ณัฐนินท์ ธรรมวิทย์เมธี บอกวิธีฝึกสมาธิเพื่อให้ได้อิทธิฤทธิ์